Highlight
- การเตรียมตัวก่อนกู้ ต้องประเมินตัวเองให้รู้จริง ทั้งการสำรวจรายได้และรายจ่าย คำนวณความสามารถในการผ่อนชำระ และการตั้งเป้าหมายการใช้สินเชื่อให้ชัดเจน
- การทำความเข้าใจต่อคะแนนเครดิต รวมไปถึงวิธีเช็คข้อมูล และการปรับปรุงคะแนนให้เพิ่มขึ้นจะช่วยให้คุณมีโอกาสได้รับเงินกู้จากสินเชื่อส่วนบุคคลได้แบบชัวร์ ๆ
- การจัดเตรียมเอกสารประกอบการพิจารณาให้พร้อม ทั้งด้านส่วนตัว การเงิน และอื่น ๆ จะช่วยปิดประตูความเสี่ยงที่จะถูกปฏิเสธในเรื่องพื้นฐานด้านการกู้สินเชื่อให้กับคุณได้
- การมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และการนำเสนอข้อมูลตัวเอง ตอบคำถามกับธนาคารอย่างมั่นใจ จะยิ่งช่วยให้สถาบันการเงินตัดสินใจปล่อยกู้ได้รวดเร็วขึ้น
- การรู้จักวิเคราะห์ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม เงื่อนไขการกู้จะช่วยให้คุณเลือกสินเชื่อที่เหมาะสมได้แบบไม่ยาก
สารบัญ
เตรียมตัวก่อนกู้: วิเคราะห์สถานการณ์การเงินของคุณ
ตรวจสอบและปรับปรุงคะแนนเครดิต
เตรียมเอกสารให้พร้อม: ป้องกันการล่าช้าในการอนุมัติ
เพิ่มความน่าเชื่อในการกู้สินเชื่อ
เลือกผู้ให้บริการสินเชื่อที่เหมาะสม
ใครที่เงินเดือนไม่พอใช้ ต้องการกู้สินเชื่อส่วนบุคคลไปใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่อง หรือเพื่อเป้าหมายอื่น แต่กู้ทีไรก็ไม่ผ่าน รู้ไหมว่าติดปัญหาหรือมีสาเหตุมาจากตรงไหน มีเหตุผลด้วยกันหลายด้าน ทั้งการเตรียมตัวที่ไม่ดี คะแนนเครดิตต่ำ เตรียมเอกสารไม่ครบ ขาดหลักประกัน เลือกสถาบันการเงินไม่เหมาะสม ฯลฯ
ไม่อยากพลาดโอกาสดี ๆ ลองมาหาวิธีที่จะช่วยให้คุณกู้สินเชื่อส่วนบุคคลให้ผ่านง่าย ๆ จากเคล็ดลับที่คุณนำไปใช้ได้จริง ไม่มีมโน ซึ่งเรารวบรวมเทคนิคที่จะนำไปทำตามได้แบบไม่ยาก และสามารถกู้สินเชื่อที่คุณสนใจ โดยใช้เวลาไม่นาน
ภาพที่ 1 สรุปวิธีการเตรียมตัวก่อนกู้สินเชื่อส่วนบุคคล ด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์เงินของคุณ
เตรียมตัวก่อนกู้: วิเคราะห์สถานการณ์เงินของคุณ
หากเทียบการยื่นกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นการออกรบ แน่นอนว่าการจะคว้าชัยชนะมาได้ ต้องรู้จักวางแผน และเตรียมตัวที่ดี สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน เรามีไกด์ไลน์มาเป็นแนวทางง่าย ๆ สำหรับคุณ
1. สำรวจรายได้และรายจ่ายของคุณ
วัตถุประสงค์: เพื่อให้คุณทราบสถานะการเงินของตัวเองอย่างชัดเจน
- บันทึกข้อมูลรายได้ทั้งหมด
- รายได้หลัก: เงินเดือน, รายได้จากธุรกิจ
- รายได้เสริม: การลงทุน, ค่าคอมมิชชั่น หรือรายได้จากทรัพย์สิน
- จดบันทึกแยกหมวดหมู่รายจ่ายในแต่ละเดือน
- รายจ่ายประจำ: ค่าเช่าบ้าน, ค่าน้ำ-ไฟ, ค่าเดินทาง
- รายจ่ายผันแปร: ค่าอาหาร, ค่าใช้จ่ายส่วนตัว, รายจ่ายฉุกเฉิน
- จัดหมวดหมู่รายจ่าย เพื่อดูว่าใช้เงินไปกันส่วนใด ลดรายจ่ายใดได้
- สรุปความต่างระหว่างรายได้และรายจ่าย
- หากรายจ่ายสูงกว่ารายได้ คุณอาจต้องปรับลดรายจ่ายก่อนกู้
- หากรายได้สูงกว่ารายจ่าย ให้บันทึกเงินส่วนที่เหลือเพื่อใช้คำนวณการผ่อน
2. คำนวณความสามารถในการผ่อนชำระ
วัตถุประสงค์: เพื่อดูว่าคุณสามารถผ่อนชำระได้เท่าไรโดยไม่กระทบต่อการดำรงชีวิต
- กำหนดสัดส่วนหนี้ที่เหมาะสม ปกติธนาคารแนะนำให้ภาระหนี้ไม่เกิน 40 – 50% ของรายได้ต่อเดือน
- คำนวณวงเงินที่สามารถกู้ได้
ใช้สูตร: วงเงินกู้ = รายได้ต่อเดือน × 40% × ระยะเวลาผ่อนชำระ (เดือน)
- คำนวณเงินผ่อนชำระรายเดือน
- ใช้เครื่องคำนวณสินเชื่อที่ให้บริการบนเว็บไซต์ธนาคาร
- ตัวอย่าง: หากต้องการกู้ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี ระยะเวลาผ่อน 5 ปี เงินผ่อนจะอยู่ที่ประมาณ 9,900 บาท/เดือน
- เปรียบเทียบกับรายได้สุทธิ
- หากเงินผ่อนเกินกว่าความสามารถ ควรลดวงเงินกู้หรือยืดระยะเวลาผ่อน
3. ตั้งเป้าหมายการใช้สินเชื่อให้ชัดเจน
วัตถุประสงค์: เพื่อให้คุณใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการ
- กำหนดวัตถุประสงค์ของการกู้
- ใช้เพื่อความจำเป็น เช่น ซ่อมบ้าน, ค่ารักษาพยาบาล
- ใช้ในการลงทุน เช่น ขยายธุรกิจ, ซื้อทรัพย์สินที่สร้างรายได้
- วางแผนการใช้เงินกู้
- แยกวงเงินกู้ตามลำดับความสำคัญ
- ระบุว่าแต่ละส่วนของเงินกู้จะใช้ทำอะไรบ้าง
- วิเคราะห์ความคุ้มค่า
- ประเมินว่าการกู้ครั้งนี้จะเพิ่มมูลค่าให้ชีวิตหรือธุรกิจในระยะยาวหรือไม่
- หลีกเลี่ยงการกู้เพื่อใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การซื้อของฟุ่มเฟือย
ภาพที่ 2 แนะนำช่องทางตรวจสบและปรับปรุงคะแนนเครดิต เพื่อเพิ่มโอกาสการอนุมัติสินเชื่อ
ตรวจสอบและปรับปรุงคะแนนเครดิต
การกู้สินเชื่อส่วนบุคคลให้ผ่านง่าย ๆ จะเป็นจริงได้แน่นอน หากคุณมีความน่าเชื่อถือที่มาจากคะแนนเครดิต ที่จะช่วยพิชิตใจให้สถาบันการเงิน จรดปากกาเซ็นต์อนุมัติแบบไม่ลังเล
คะแนนเครดิตคืออะไร
คะแนนเครดิต (Credit Score) คือ การประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินของบุคคล โดยอิงจากพฤติกรรมทางการเงินในอดีต เช่น การชำระหนี้ การใช้งานบัตรเครดิต และประวัติการกู้ยืม
ทำไมคะแนนเครดิตถึงมีความสำคัญต่อการกู้สินเชื่อส่วนบุคคล
- ธนาคารและสถาบันการเงินใช้คะแนนเครดิตเป็นหนึ่งในเกณฑ์พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
- ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย: คะแนนเครดิตที่ดีช่วยให้คุณได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า
- เพิ่มความน่าเชื่อถือ: ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเมื่อยื่นขอกู้
วิธีเช็กคะแนนเครดิตของคุณ
ขั้นตอนการตรวจสอบคะแนนเครดิตในประเทศไทย:
เตรียมเอกสารที่จำเป็น: สำเนาบัตรประชาชน เอกสารแสดงตัวตนเพิ่มเติม (ถ้าจำเป็น)
เลือกช่องทางการตรวจสอบ:
- บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (National Credit Bureau)
- ผ่านธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์
- ผ่านแอปพลิเคชัน เช่น “Krungthai Next” หรือ “SCB Easy”
- ตรวจสอบออนไลน์: ผ่านเว็บไซต์หรือแอปฯ ของสถาบันการเงินที่ให้บริการ
- ตรวจสอบด้วยตัวเอง: ที่สำนักงานของเครดิตบูโร
ค่าธรรมเนียม: ปกติประมาณ 100-150 บาท ต่อครั้ง
รอผล: ออนไลน์ทราบผลภายในไม่กี่นาที ขอแบบเอกสาร อาจใช้เวลาประมาณ 7 วันทำการ
เคล็ดลับปรับปรุงคะแนนเครดิตให้ดียิ่งขึ้น
- ชำระหนี้ตรงเวลา ชำระค่าบัตรเครดิตและสินเชื่อตรงตามกำหนดเวลา
- ลดการใช้วงเงินเครดิต ควรใช้วงเงินไม่เกิน 30% ของวงเงินที่ได้รับ
- ไม่ยื่นขอกู้หลายรายการพร้อมกัน อาจส่งผลเสียต่อคะแนนเครดิต
- เคลียร์หนี้ค้างเก่าให้หมด หากมีหนี้ค้าง ให้เจรจาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้หรือชำระให้หมด
- ตรวจสอบรายงานเครดิต หากพบข้อผิดพลาด ให้แจ้งเครดิตบูโรหรือสถาบันการเงินแก้ไข
- รักษาประวัติการเงินระยะยาว เพื่อแสดงถึงเสถียรภาพทางการเงิน
- เพิ่มรายได้หรือแหล่งเงินสำรอง แสดงหลักฐานแหล่งเงินออมที่ชัดเจน
ภาพที่ 3 รวมข้อมูลเอกสารที่ต้องใช้ และเคล็ดลับการเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน
เตรียมเอกสารให้พร้อม: ป้องกันการล่าช้าในการอนุมัติ
ไม่อยากตกม้าตายด้วยเรื่องง่าย ๆ โดยเฉพาะการจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นต่อการพิจารณาขอสินเชื่อส่วนบุคคล มาทำความเข้าใจ และนำไปวางแผนจัดหาไว้ล่วงหน้า จะได้ไม่เกิดความล่าช้าในการอนุมัติ
รายการเอกสารที่มักต้องใช้ในการขอสินเชื่อ
เอกสารประจำตัว: สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน
เอกสารยืนยันรายได้: ใบรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือน รายการเดินบัญชี
เอกสารทรัพย์สิน: เอกสารการถือครองทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน เล่มทะเบียนรถยนต์
เอกสารเพิ่มเติม: ใบทะเบียนพาณิชย์ หลักฐานแสดงรายได้เสริม
เคล็ดลับการเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน
- ตรวจสอบรายการเอกสารล่วงหน้า กับสถาบันการเงิน
- จัดเอกสารให้เป็นระเบียบ ใช้แฟ้มเอกสารแบ่งหมวดหมู่ เพื่อให้ค้นหาได้ง่าย
- ถ่ายสำเนาเอกสารพร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง พร้อมระบุวันที่ชัดเจน
- เก็บต้นฉบับเอกสารไว้เสมอ สถาบันการเงินอาจขอตรวจสอบในการพิจารณา
- ตรวจสอบวันหมดอายุของเอกสาร ควรเป็นฉบับที่อัพเดตล่าสุด
ข้อผิดพลาดที่ควรหลีกเลี่ยง
- ส่งเอกสารไม่ครบถ้วน การขาดเอกสารสำคัญ อาจทำให้การพิจารณาล่าช้า
- ข้อมูลในเอกสารไม่ตรงกัน ไม่สอดคล้องกับรายได้ที่แจ้ง
- การไม่เตรียมสำเนาเพิ่ม การไม่มีสำเนาเตรียมไว้ล่วงหน้าทำให้เกิดความล่าช้า
- ไม่ตรวจสอบเอกสารฉบับจริง หากมีข้อมูลผิดพลาด อาจต้องเสียเวลาแก้ไข
- การละเลยรายละเอียดเล็กน้อย เช่น ลืมเซ็นรับรองสำเนา หรือเอกสารที่พับยับเยิน
ภาพที่ 4 คำแนะนำสำหรับการเพิ่มความน่าเชื่อถือในการขอสินเชื่อส่วนบุคคล
เพิ่มความน่าเชื่อถือในการขอกู้สินเชื่อ
หากคุณไม่มั่นใจว่าจะทำอย่างไรให้มีเปอร์เซ็นต์การอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น เรามีทางออกที่จะช่วยสนับสนุนให้สถาบันการเงินเชื่อถือ ไว้วางใจ และไม่ลังเลที่จะหยิบยื่นเงินกู้ให้กับคุณมาแนะนำ
การมีหลักทรัพย์ค้ำประกันช่วยได้อย่างไร
- หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ หรือเงินฝาก ช่วยลดความเสี่ยงของธนาคาร เพราะธนาคารสามารถยึดหลักทรัพย์ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินได้
- ทำให้ธนาคารมั่นใจมากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อ และมักจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ข้อควรพิจารณา:
- หลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันควรมีมูลค่ามากกว่าวงเงินกู้
- ผู้กู้ต้องมั่นใจว่าจะสามารถรักษาหลักทรัพย์นั้นได้ หากเกิดปัญหาในการชำระหนี้
เทคนิคการนำเสนอตัวเองให้ธนาคารมั่นใจ
- แสดงรายได้ที่มั่นคง: เตรียมเอกสารที่ยืนยันรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน ใบรับรองการทำงาน หรือรายการเดินบัญชี ย้อนหลัง 6 เดือน
- อธิบายเป้าหมายการใช้เงิน: แสดงให้ธนาคารเห็นว่าเงินกู้จะถูกนำไปใช้เพื่อสร้างผลประโยชน์ เช่น ใช้ในธุรกิจ การลงทุน หรือการปรับปรุงที่อยู่อาศัย
- แสดงความสามารถในการผ่อนชำระ: คำนวณและนำเสนอแผนการชำระเงินที่สมเหตุสมผล โดยแสดงให้เห็นว่าคุณมีรายได้เพียงพอที่จะรับภาระหนี้
- การสร้างความประทับใจในการพบธนาคาร: สร้างความประทับใจแรกด้วยการแต่งกายสุภาพและท่าทางที่มั่นใจ
- ตอบคำถามด้วยความชัดเจน: เตรียมตอบคำถามเกี่ยวกับรายได้ หนี้สิน และเป้าหมายการกู้ให้ตรงประเด็น
- ใช้บริการธนาคารอย่างสม่ำเสมอ: การเป็นลูกค้าประจำของธนาคาร เช่น การฝากเงิน เปิดบัญชี หรือใช้บัตรเครดิต ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในระยะยาว
ภาพที่ 5 วิธีสำหรับการเปรียบเทียบเพื่อเลือกผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่เหมาะสม
เลือกผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่เหมาะสม
เพราะการเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ การตัดสินใจเลือกแหล่งให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลจึงเป็นปัจจัยสำคัญ มาหาทริคง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คุณเปรียบเทียบว่าที่ไหนดี เหมาะสม และตอบโจทย์เป้าหมายการเงินได้ดีที่สุด
วิธีเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
- พิจารณาว่าสถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยแบบใด: เหมาะจะเลือกแบบคงที่หรือว่าลดต้นลดดอกดี
- ตรวจสอบค่าธรรมเนียมแฝง: เช่น ค่าจัดการสินเชื่อ ค่าปรับชำระคืนก่อนกำหนด หรือค่าธรรมเนียมการติดตามหนี้
- คำนวณยอดผ่อนรวม: ใช้เครื่องมือหรือเว็บไซต์คำนวณสินเชื่อ เพื่อเปรียบเทียบยอดผ่อนรวมระหว่างผู้ให้บริการ
วิเคราะห์เงื่อนไขที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณ
- วงเงินที่เสนอ: เลือกผู้ให้บริการที่สามารถเสนอวงเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณ
- ระยะเวลาผ่อนชำระ: ระยะเวลานานช่วยลดค่างวดรายเดือน แต่เพิ่มต้นทุนดอกเบี้ย
- เงื่อนไขการชำระเงิน: ตรวจสอบว่าสามารถชำระคืนก่อนกำหนดได้หรือไม่ และมีค่าปรับหรือไม่
- ข้อเสนอพิเศษ: เช่น การพักชำระหนี้ช่วงแรก หรือโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำ
สรุป
เมื่อปิดจุดตายได้ทุกทาง การกู้สินเชื่อส่วนบุคคลก็จะเป็นเรื่องกล้วย ๆ เพียงแค่คุณเข้าใจตัวเอง เข้าใจเกณฑ์สถาบันการเงินที่ปล่อยเงินกู้ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมที่ดี ทั้งในด้านเอกสาร การตอบคำถาม และเลือกแหล่งให้บริการที่เหมาะสมและดีที่สุดในจุดที่ตอบโจทย์คุณได้ครบถ้วน เคล็ด(ไม่)ลับเหล่านี้คงช่วยให้คุณสบายใจได้ว่า จะมีเงินมาใช้จ่ายได้ตามเป้าหมายที่ต้องการแบบไม่ต้องลุ้น ให้วุ่นวายใจ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
– 7 วิธีขอสินเชื่อให้ผ่านฉลุย อนุมัติไว เว็บไซต์ธนาคารกสิกรไทย
https://www.kasikornbank.com/th/credit-insight/pages/tips-for-loan.aspx
– เช็คเครดิตบูโรด้วยตัวเองง่าย ๆ รู้ผลไว เว็บไซต์ธนาคารกรุงไทย
https://krungthai.com/th/krungthai-update/promotion-detail/1981
– ยื่นกู้สินเชื่อส่วนบุคคลต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เว็บไซต์ธนาคาร TTB
https://www.ttbbank.com/th/fin-tips/detail/pl-document-apply-personal-loan
– แนวทางเลือกสินเชื่อส่วนบุคคล เว็บไซต์เงินติดล้อ
https://www.tidlor.com/th/article/financial/debt-management/how-to-choose-personal-loan