Highlight
- สินเชื่อบ้าน คือ เงินกู้ประเภทหนึ่งที่มีเป้าหมายเพื่อนำมาซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย
- ก่อนขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ต้องดำเนินการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน การศึกษาข้อมูลผู้ให้บริการ และการจัดการหนี้สินส่วนบุคคล
- ขั้นตอนการขอสินเชื่อ เริ่มต้นจากเปรียบเทียบข้อเสนอ จัดเตรียมเอกสาร ติดต่อสถาบันการเงิน ประเมินวงเงินสินทรัพย์ และอนุมัตินัดหมายทำสัญญา รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์
- การขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีสิ่งที่ต้องระวัง ทั้งไม่ควรสร้างหนี้จนเกินเพดาน ดูแลประวัติเครดิตการเงินให้ดีอยู่เสมอ และต้องศึกษารายละเอียดในสัญญาให้เข้าใจอย่างครบถ้วน
นิยามความหมายของ “สินเชื่อบ้าน” ซึ่งเป็นเงินกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย
สินเชื่อบ้านคืออะไร?
การเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน หากรอเก็บเงินให้ครบก่อนก็คงต้องใช้เวลานานหลายปี หรือสำหรับบางคนก็อาจจะไม่มีโอกาสเลยที่จะสะสมเงินก้อนขนาดนั้นได้ สินเชื่อบ้านจึงเป็นเครื่องมือที่จะทำให้สามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในฝันที่แต่ละคนต้องการได้
โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้นคืออะไร ? คำนิยามของ“สินเชื่อบ้าน” ที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ เงินกู้ประเภทหนึ่งที่มีเป้าหมายเพื่อนำมาซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคารพาณิชย์ ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม รวมไปถึงคอนโด
โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้จะใช้ที่อยู่อาศัยนั้น ๆ เป็นหลักประกัน ส่วนจำนวนเงินที่จะได้รับจะเป็นไปตามราคาประเมิน ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งสินเชื่อบ้านจัดเป็นเงินกู้ระยะยาว มีระยะเวลาปล่อยกู้ตั้งแต่ 10 – 30 ปี โดยสามารถผ่อนชำระเป็นรายเดือน ซึ่งประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยตามอัตราที่สถาบันการเงินกำหนด
สำหรับสินเชื่อบ้านนั้น มีด้วยกันหลายประเภท ดังต่อไปนี้
- สินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน อาคารพาณิชย์ ทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม ห้องชุด พร้อมที่ดิน
- สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในที่ดินที่ผู้กู้ถือกรรมสิทธิ์
- สินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินสำหรับการต่อเติม ตกแต่ง และปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิม
- สินเชื่อเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ย ด้วยการยื่นกู้กับสถาบันการเงินใหม่ หรือการรีไฟแนนซ์บ้าน
- สินเชื่อเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับการปลูกสร้างบ้าน หรืออาคารพาณิชย์ เพื่อการค้าขายและอยู่อาศัย
แนะนำขั้นตอนเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อบ้าน เพื่อการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ
การเตรียมตัวขอสินเชื่อบ้าน: เริ่มต้นอย่างไร
ตรวจสอบความพร้อมทางการเงิน: ประเมินรายได้และภาระหนี้สิน
ก่อนจะเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในฝันต้องเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ความพร้อมทางด้านรายได้ โดยการเช็ครายรับที่หามาได้ในแต่ละเดือน ลบด้วยหนี้สินที่ต้องจ่าย รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น ซึ่งต้องมีเงินเหลือเพียงพอสำหรับผ่อนชำระได้ทุกเดือน โดยไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
ศึกษาเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร: สิ่งที่ธนาคารมองหาจากผู้กู้
การทำความเข้าใจต่อเงื่อนไขพื้นฐานที่มีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อบ้านถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยปกติสถาบันการเงินจะกำหนดให้ผู้ยื่นกู้ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีขึ้นไป มีศักยภาพความพร้อมในการผ่อนชำระคืน โดยพิจารณาจากรายได้ อาชีพ มูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมไปถึงภาระหนี้สิน และไม่มีประวัติเสียหายทางด้านการเงินที่ยังค้างอยู่ในระบบเครดิตบูโร
จัดการปิดหนี้ที่สามารถบริหารจัดการได้: สร้างโอกาสได้วงเงินเพิ่ม เสริมสภาพคล่อง
การจัดการเคลียร์หนี้สินที่คงค้าง ถือเป็นการเตรียมความพร้อมที่จำเป็นก่อนที่จะยื่นกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะหนี้ที่เหลือจำนวนน้อย หนี้จากการบริโภคที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการพิจารณาเพิ่มวงเงิน ทำให้ธนาคารเห็นถึงการมีวินัยในการจัดการด้านการเงิน รวมไปถึงช่วยเพิ่มสภาพคล่องในด้านกระแสเงินสดสำหรับการผ่อนชำระรายเดือน
แนะนำขั้นตอนการขอสินเชื่อบ้าน ด้วยกระบวนการ 4 ขั้นตอน ที่เข้าใจง่าย
ขั้นตอนการขอสินเชื่อบ้าน
1. ค้นหาและเปรียบเทียบข้อเสนอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
ในปัจจุบันมีสถาบันการเงินและธนาคารต่าง ๆ มากมายให้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยผู้ต้องการยื่นกู้จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลในด้านต่าง ๆ เพื่อใช้เปรียบเทียบประกอบการพิจารณาเลือกว่าแหล่งเงินกู้ที่ใดเหมาะสมที่สุดสำหรับตนเอง โดยมีข้อมูลที่ควรเจาะลึกประกอบไปด้วย
- อัตราวงเงินให้กู้และระยะเวลาการผ่อนชำระ เลือกที่ได้ราคาประเมินสูง ผ่อนชำระได้นาน
- อัตราดอกเบี้ย พิจารณาว่ามีการคิดดอกเบี้ยแบบใด ที่ไหนให้ผลประโยชน์ที่คุ้มค่ามากกว่ากัน
- โปรโมชั่นและสิทธิพิเศษ พิจารณาเปรียบเทียบว่าที่ใดมีโปรโมชั่นที่ตรงกับความต้องการ
- เงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อ วิเคราะห์ข้อกำหนด คุณสมบัติ และเงื่อนไขในการเข้าถึงสินเชื่อ
2. การเตรียมเอกสารที่จำเป็น
เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการยื่นกู้ขอสินเชื่อบ้าน การจัดเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน สำหรับการนำไปยื่นต่อสถาบันการเงินถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้ยื่นกู้ต้องดำเนินการ โดยประกอบไปด้วย
- เอกสารส่วนบุคคล: บัตรประจำประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส ใบหย่า สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ – นามสกุล สำเนาบัตรประชาชนคู่สมรส (ถ้ามี)
- เอกสารทางด้านการเงิน: กรณีเป็นพนักงานประจำ จะต้องมีหนังสือรับรองเงินเดือน สลิปเงินเดือนหรือหลักฐานการรับเงินย้อนหลัง 3 เดือน สำเนารายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน กรณีเป็นผู้ประกอบการ อาชีพอิสระ ต้องเตรียมสำเนารายการเดินบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน สำเนาทะเบียนการค้า/บริษัท /ห้างหุ้นส่วน หลักฐานการชำระภาษี รูปถ่ายกิจการ
- เอกสารหลักประกัน: เอกสารสัญญาซื้อขาย สัญญาวางมัดจำ สำเนาโฉนดที่ดิน ใบอนุญาตสำหรับการปลูกสร้าง หรือต่อเติม สัญญาการว่าจ้าง เอกสารรายการประเมินค่าใช้จ่าย
3. ธนาคารดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและประเมินราคาหลักทรัพย์
เมื่อได้ทำการยื่นเอกสารต่อสถาบันการเงินแล้ว จะมีการตรวจสอบเพื่อประเมินคุณสมบัติภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้กระบวนการยื่นขอสินเชื่อบ้านจะต้องมีการดำเนินการตรวจสอบและประเมินมูลค่าของหลักทรัพย์ค้ำประกันตามประเภทที่ผู้ยื่นกู้ระบุ โดยจะเชื่อมโยงไปถึงการอนุมัติวงเงินให้กู้ ซึ่งผู้ขอสินเชื่อจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการประเมิน จะอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของสถาบันการเงินหรือบริษัทผู้ที่รับผิดชอบในการประเมิน สำหรับกระบวนการพิจารณาจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือบางสถาบันการเงินอาจจะยาวนานเป็นเดือน โดยผู้กู้ควรหมั่นติดตามเป็นระยะ หากติดปัญหาส่วนใดจะได้รีบดำเนินการแก้ไข
4. ทำสัญญาเงินกู้ และสัญญาโอนกรรมสิทธิ์
เมื่อทางสถาบันการเงินแจ้งผลว่าผ่านการอนุมัติสินเชื่อ ก็จะนัดหมายวันสำหรับการทำสัญญาเงินกู้ โดยมักจะดำเนินการล่วงหน้าก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 1 – 2 วัน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั้งนอกสถานที่โดยเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินนำสัญญาไปให้ผู้ยื่นกู้เซ็นต์ หรือจะนัดมาที่ทำการของสถาบันการเงินนั้น ๆ ก็ได้ ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์จะต้องไปดำเนินการที่สำนักงานที่ดิน โดยจะต้องมีผู้ซื้อ ผู้ขาย และสถาบันการเงินไปพร้อมกัน โดยผู้ยื่นกู้จะต้องจัดเตรียมเงินไปชำระค่าธรรมเนียม และอากร รวมไปถึงหากได้วงเงินไม่ครบ ก็ต้องจัดเตรียมเงินส่วนต่างไปชำระด้วย
คำแนะนำข้อควรระวัง สำหรับการขอสินเชื่อบ้าน เพื่อการจัดการด้านการเงินที่เหมาะสม
ข้อควรระวังสำหรับการขอสินเชื่อบ้าน
- ไม่ควรสร้างภาระหนี้เพิ่มเติมจนเกินเพดาน แม้ว่าก่อนที่จะกู้สินเชื่อบ้านจะได้บริหารจัดการหนี้สินคงค้างไปบ้างแล้ว แต่หากภายหลังได้รับการอนุมัติเงินกู้แล้ว กลับไปสร้างภาระค่าใช้จ่ายที่มีผลผูกพันระยะยาวเพิ่มเติม จนทำให้รายได้ที่หมุนเวียนมีไม่เพียงพอ หรือประสบปัญหาตกงาน ขาดรายได้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนเพื่อจัดสรรเงินสำรอง สำหรับรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นในลักษณะนี้ไว้ด้วย
- มีประวัติผิดนัดชำระเงิน เครดิตไม่ดี การยื่นขอสินเชื่อไม่ว่าจะกับสถาบันการเงินใด ๆ หนึ่งในปัจจัยที่จะมีผลต่อการพิจารณาก็คือ ประวัติทางการเงินที่ผ่านมา โดยเฉพาะการมีวินัยที่ดี มีการชำระหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินมองเห็นศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ แต่หากมีข้อมูลปรากฏอยู่ในบริษัทเครดิตแห่งชาติว่ามียอดค้างชำระ ก็จำเป็นต้องจัดการเคลียร์หนี้ที่ติดค้างอยู่ และรอระยะเวลาที่ประวัติจะกลับมาสู่สถานะปกติก่อน
- ควรอ่านรายละเอียดเงื่อนไขในเอกสารสัญญาให้เข้าใจก่อนลงนาม การทำสัญญาสินเชื่อบ้าน ซึ่งเป็นเงินกู้ที่มีผลผูกพันในระยะยาวสูงสุดถึง 30 ปี สิ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือ การทำความเข้าใจต่อเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารสัญญาในทุกตัวอักษร ไม่ว่าจะเป็นตัวเล็ก หรือขนาดปกติ กรณีที่มีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจในส่วนใด ควรสอบถามจากเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงิน หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองตกเป็นหนี้ โดยที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างความคุ้มค่าสำหรับตนเองตามที่มุ่งหวังตั้งใจ
สรุป
สินเชื่อบ้านจัดเป็นช่องทางที่จะช่วยให้ผู้ที่สนใจต้องการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองสามารถสานฝันให้เป็นจริงได้ โดยอาศัยแหล่งเงินทุนจากผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ และมีเงื่อนไขที่เป็นธรรม
สำหรับมือใหม่การทำความเข้าใจต่อข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องรู้ถือเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้คุณสามารถเลือกแหล่งเงินกู้ที่ตอบโจทย์ต่อเป้าหมาย และสามารถดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และผ่านการอนุมัติโดยใช้ระยะเวลาเพียงไม่นาน
นอกจากนี้ยังสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากสินเชื่อบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระทบต่อรายจ่ายอื่น ๆ ทำให้ใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์แบบ ภายในที่อยู่อาศัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความอบอุ่นและสะดวกสบาย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
โครงการอรัญสิน: เชื่อบ้านมีกี่ประเภท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ : 10 ขั้นตอนขอสินเชื่อบ้าน
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา: 5 สิ่งไม่ควรทำก่อนขอสินเชื่อบ้าน